ปณิธาน ในการภาวนา และการเผยแผ่ พระธรรม

เริ่มโดย kai, ต.ค 02, 2024, 10:51 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

kai

ปณิธาน ในการภาวนา และการเผยแผ่ พระธรรม
==============================


กายวิเวก  จิตตวิเวก  อุปธิวิเวก

  กายวิเวก เป็นอย่างไร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมช่องเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ล้อมฟาง และเป็นผู้สงัดด้วยกายอยู่ คือ เดินผู้เดียว นั่งผู้เดียว ยืนผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว อธิฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวอยู่เปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติรักษาเป็นไป นี้ชื่อว่า  กายวิเวก

  จิตตวิเวก เป็นอย่างไร ภิกษุในพระธรรมนี้ เข้าปฐมฌาน มีจิตสงัดจากนิวรณ์ มีจิตสงัดจากวิตก วิจาร เพราะเข้าทุติยฌาน เข้าตติยฌานมีจิตสงบจากสุขและทุกข์ เข้าอากาสานัญจายตน มีจิตสงัดจากรูปสัญญา ปฏิฆะสัญญา มานัตตสัญญา เข้าวิญญาณัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจาก อากาสานัญจายตนสัญญา เข้าอากิญจัญยายตนฌาน มีจิตสงัดจาก วิญญาณัญจายตนสัญญา เข้าเนวสัญญานาสัญญายตน มีจิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา เมื่อภิกษุนั้น เป็นโสดาบันบุคคล สงัดจากสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลพัตตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับสักกายทิฐิ เป็นต้น เป็นสกทาคามี มีจิตสงัดจากกามราคะสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคะนุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบ ๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคุสังโยชน์เป็นต้นนั้น เป็นอานาคามี มีจิตสงัดจากกามราคะสังโยชน์ ปฏิฆะสังโยชน์ กามราคะนุสัย ปฏิฆนุสัยอย่างละเอียด ๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคะสังโยชน์อย่างละเอียดเป็นต้นนั้น เป็นอรหันต์มีจิตสงัดจาก รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชามานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชานุสัย กิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับรูปราคะเป็นต้น และสงัดจากสังขารนิมิตรทั้งปวงภายนอก นี้ชื่อว่า จิตวิเวก

  อุปธิวิเวกเป็น อย่างไร กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี เรียกว่าอุปธิ อมตนิพพาน เรียกว่า อุปธิวิเวก ได้แก่ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอก ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก
  กายวิเวก  ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออก  ผู้ยินดีในเนกขัมมะ(การออกบวช)
  จิตตวิเวก  ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์  ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง
  อุปธิวิเวก  ย่อมมีแก่บุคคลผู้หมดอุปธิ(กิเลส)ถึงซึ่งนิพพานอันเป็นวิสังขาร

  ตามความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า เรียกว่า พระอริยเจ้าทั้งหลาย ความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอันเลิศประเสริฐ วิเศษ เป็นใหญ่สูงสุด บวรของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยเจ้าทั้งหลาย

  ความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยเจ้าทั้งหลาย บุคคลไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐด้วยความประพฤติวิเวกนั้น บุคคลนั้นแล ย่อมปฏิบัติในที่ใกล้นิพพาน
+=================================+
ส่วนตัวเมื่อระลึกถึงการอุปสมบถแล้ว ขณะนี้พอใจในการภาวนา ของตนเองเป็นอย่างมาก ที่พอใจมากที่สุดก็ปี พ.ศ.2559 ที่ได้เข้าปฏิจจสมุปบาท 4 รอบ ตามที่ครูอาจารย์ได้สอนวิธีการของกรรมฐาน และความโล่งแจ้งสบายได้เกิดมาตั้งแต่ พ.ศ.2559
ถึงแม้ว่าปัจจุบัน จะมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยไปตามวัยอายุ ก็นับว่าพอใจอยู่ในการภาวนาที่ผ่านมา
ก็ขอบคุณทุกท่านที่ได้สนับสนุนการเผยแผ่พระกรรมฐานของธัมมะวังโส ตลอดถึงได้สนับสนุนวิถีธรรมในการภาวนาด้วย
ขออำนาจบุญบารมีที่ ธัมมะวังโส ได้กระทำให้แจ้งจงบังเกิดผลแก่ทุกท่านที่ได้ร่วมสนับสนุนการภาวนาและการเผยแผ่ของธัมมะวังโส ให้เจริญไปสู่ความสิ้นกิเลสและทุกข์ กันทุกท่านเทอญ

เจริญธรรม / เจริญพร
15 มกราคม 2565