อยากฝึกธรรมสำเร็จไว ๆ คะ รู้สึกทุกข์ เหลือเกิน ทำไมกรรมฐาน ถึงฝึกยากอย่างนี้คะ

เริ่มโดย kai, ก.ย 02, 2024, 06:31 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

kai

ถาม พระอาจารย์คะ อยากฝึกธรรมสำเร็จไว ๆ คะ
รู้สึกทุกข์ เหลือเกิน ทำไมกรรมฐาน
ถึงฝึกยากอย่างนี้คะ มีวิธีลัดกว่านี้ไหมคะ



ตอบ ค่อยๆฝึก อย่ารีบร้อน
ที่สำคัญก่อนทำกรรมฐาน มันต้องวางทำจิตให้เป็นกลาง
ไม่มีคำว่า ได้ หรือ เสีย
สำเร็จ หรือ ไม่สำเร็จ ไม่มีความกลัว


มีแต่ความอาจหาญ
ในก่อนที่จะทำการภาวนา
ขณะภาวนา และหลังภาวนา

กรรมฐานไม่ได้มุ่งที่ การได้อุปจาระฌาน
หรือ อัปนาฌาน ตรง
แต่มุ่งหวังให้คนที่ได้ภาวนา
มีสภาวะสงบจากกิเลส มีนิวรณ์ 5 เป็นต้น ก่อน


ดังนั้นถ้าในขณะภาวนา นิวรณ์ ( กิเลสเบื้องต้น )
ได้สงบลงแล้ว แม้จะแค่อึดใจเดียว
ภาษากรรมฐาน ใช้คำเปรียบว่า
ชั่วช้างกระดิกหู ชั่วงูแลบลิ้น
(อย่างเลวก็แค่ช้างกระดิกหู อย่างเลวก็แค่งูแลบลิ้น)
นี่ก็นับว่าใช้ได้แล้ว
และจะเริ่มใช้ได้ไปเรื่อย ที่ระยะเวลาสะกดกลั้น
บาปธรรมทั้งปวงไม่ให้ลงสู่ใจ

คำว่า บาปธรรมทั้งปวง
ไม่ได้หมายถึง โลภะ โทสะ โมหะ ในปัจจุบัน
แต่หมายถึง วิบากอกุศล ( ผลของความชั่ว )
ที่ได้กระทำมาแล้วนั้นได้พักลงบ้าง

คนเรามีทั้งดี และชั่วในตัว
บ้างก็คิดดี บ้างก็คิดชั่ว เป็นปุถุชน คนหยาบ
ที่ไม่รู้จักพระธรรม ย่อมมีโอกาสพลาดพลั้ง
ที่จะทำความชั่ว การทำความชั่ว
ถ้าไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน วิบากก็จะน้อย
แต่ถ้าทำให้คนอื่นเดือดร้อน วิบากก็จะมาก
ไปตามอำนาจบาปธรรมทั้งปวงที่ได้กระทำไว้ก่อน

ดังนั้น ในอภิญญาเทสิตธรรม (เส้นทางสู่ อภิญญา) นั้น
พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนลำดับธรรม
อันต่อจากสติปัฏฐานนั้นก็คือ สัมมัปปธาน 4 (สัมมาวิริยะ)
สัมมัปปธาน 4 ก็มี 4 ระดับในเชิงปริยัติ
แต่ ในทางด้านการปฏิบัติ มีเพียงอย่างเดียว
คือ การสร้างกุศล เพราะถ้าสร้างกุศล
ย่อมหมายถึง การทำลายอกุศล
ย่อมหมายถึงการรักษากุศล
ย่อมหมายถึงการทรงกุศล

ดังนั้น ถึงแม้จะดูเชิง ปริยัติ (ข้อศึกษา) ว่ามี 4 ขั้นตอน
แต่ในทางการปฏิบัติ มีแค่อย่างเดียว คือ
สร้างกุศลความดีนั่นเอง

และการดำเนิน สัมมัปปธาน 4 ย่อลง
ในวิธีการที่รวบลัดง่ายดายที่สุดก็คือ ทาน ศีล ภาวนา

ทาน ก็รู้จักมอบ รู้จักให้
ในที่นี้ หมายถึงการมอบให้
กับเนื้อนาบุญประการเดียวเท่านั้น

ศีล ก็รู้จักการสมาทาน การรักษา
ในที่นี้หมายถึงศีลอุโบสถ
เพราะว่า อธิจิตต้องการศีลอุโบสถ

ภาวนา ก็รู้จักการเจริญกรรมฐาน
มี จาคานุสสติ เทวตานุสสติ สีลานุสสติ
พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสิต
ในที่นี้หมายถึง 6 กรรมฐาน


ที่ภาวนาได้ช้า เพราะว่า
ความไม่สมบูรณ์ในทาน ในศีล ในภาวนา
การจะมีอธิจิต สมาธิระดับ อัปปนาฌาน
ของคู่สามีภริยา เป็นไปไม่ได้

ดังนั้นผู้จะฝึกอธิจิต ต้องมีช่วงเว้นจากการเสพกาม
แม้ภรรยา สามี ตนก็ไม่ได้ ต้องเว้น
ยิ่งถ้าต้องสอบกรรมฐาน ความบริสุทธิจากการเสพกาม
ย่อมต้องมีระยะห่างอย่างน้อย 15 วัน

การจะมีอธิจิต สมาธิระดับ อัปปนา
ในขณะที่ต้องค้าขาย ซึ่งต้องมีการพูดจาโฆษณา
ซึ่งอาจจะเกินความจริงของสินค้า ของดีราคาถูก
มันไม่มีจริงหรอก มีแต่ของดี ให้เปล่าเป็นทาน
อย่างนี้มีจริง ดังนันคนทำมาค้าขาย
จะไปสู่อัปปนาสมาธิ นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะจะพร่องเรื่องศีล

ส่วนใหญ่ที่ทำอธิจิตไม่ได้ นั้น
จะเป็นเพราะพร่องเรื่องศีล
เพราะอธิจิต ระดับอัปปนา ต้องการศีล อุโบสถ

การมีศีลอุโบสถ นั้น ก็คือตัดปลิโพธิ
ดังนั้นผู้ฝีกสมาธิ ขั้นอัปปนานั้น
ต้องสมาทาน ศีลอุโบสถ อย่างน้อย 7 วัน

แต่สำหรับอุปจาระสมาธินั้น ไม่มีปัญหา
แค่ศีล 5 ก็พออยู่ พอเพียง
ดังนั้นการเจริญพุทธานุสสติ ในระดับอุปจาระสมาธินั้น
จึงสามารถกระทำได้ไม่มีปัญหา กับคู่สามีภรรยา
และในการค้าขายมีอาชีพของแต่ละคน
และยังสามารถต่อวิปัสสนาไปได้
เป็น อริยะ โสดาบัน ขึ้นไปได้

เจริญธรรม / เจริญพร
9 ตุลาคม 2564