แม่บทธรรมบทใหญ่ โอวาทปาฏิโมกข์

เริ่มโดย kai, ส.ค 18, 2023, 08:57 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

kai

แม่บทธรรมบทใหญ่ โอวาทปาฏิโมกข์
ธรรมบทนี้เกิดขึ้น ในวันเพ็ญ เดือน 3 หรือ วันมาฆะบูชา

=======================

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม,
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง, การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ,
เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,
========================================

3 บทแรกนั้น จัดเป็นบทสากลของ พุทธศาสนา แน่นอนว่า
พระพุทธเจ้าย่อมไม่ขัดแย้งกับศาสนาหรือลัทธิต่าง ๆ ที่มีลักษณะอย่างนี้ นั่นคือ


1. สอนให้ละจากความชั่ว
2. สอนให้สร้างคุณความดี
3. ต้องพยายามชำระจิตให้บริสุทธิ์
( แปลว่าขาวรอบนั้นเข้าใจได้ยาก แต่แปลให้ได้ใจความ
ก็ต้องว่าแปลทำจิตใจให้หมดจด ในที่นี้หมายถึงการทำจิตใจให้ปราศจากความทุกข์ )
ส่วนโอวาทต่อไปนั้นเป็น วิธีการ ในการรักษา คุณธรรมสากลเอาไว้

ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา, ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา, ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี, ผู้กำจัดสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต, ผู้ทำลายสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย,
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต, การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,
ปาติโมกเข จะ สังวะโร, การสำรวมในปาติโมกข์,
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,
อะธิจิตเต จะ อาโยโค, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,
เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,

==================================

1. ขันติ เป็นอันดับแรกที่จำเป็นต้องมีคุณธรรมต่าง ๆ จะงอกงามได้เพราะอาศัยขันติ พวกตบะต่าง ๆ ก็ต้องอาศัย ขันติ
2. นิพพาน การกล่าวถึง นิพพาน การเรียนรู้คำว่า นิพพาน การกำหนดเป้าหมาย ใน นิพพาน เป็นสิ่งที่พึงมิฉะนั้นจะเคว้งคว้าง เหมือนถามว่า ภาวนาทำไม อย่างน้อยคำตอบ ก็ควรตอบให้ตรงเป้า ว่า ภาวนาไปสู่นิพพาน
3. การเป็นบรรพชิต ต้องไม่กำจัดสัตว์อื่น ๆ แต่ต้องประกอบด้วยเมตตาก่อน
4. การเป็นสมณะ ย่อมไม่ทำให้สัตว์ลำบาก แต่ย่อมทำให้สัตว์มีสุข
5. การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย เป็นคุณสมบัติที่สำคัญ
6. การระมัดระวังข้อบัญญัติในปาติโมกข์ ( กลับไปดู 3 ข้อด้านบน )
7. รู้จักประมาณในการกิน
8. รู้จักส่งเสริมสภาวะจิต นั่งนอนอยู่ในที่อันสงัด ไม่ให้คลุกคลี เพลิดเพลินกิจกรรมแบบชาวบ้านมากไป
9. การประกอบในการทำจิตให้เข้าสู่ธรรมขั้นสูงยิ่งขึ้น

หลักคำสอน เป็นหลักคำสอนที่ พระพุทธเจ้า ทั้งหลาย ( 27 พระองค์ ) ล้วนสอนอย่างนี้ ดังนั้นแบบแผนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แม้ในอนาคตก็ย่อมสอนอย่างนี้
สงเคราะห์ธรรม ใน อริยะมรรค มีองค์ 8

1. ขันติ ย่อมสงเคราะห์เข้าใน สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
2. นิพพาน ย่อมสงเคราะห์ใน สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ
3. การเป็นบรรพชิต สงเคราะห์ใน สัมมาอาชีวะ
4. การเป็นสมณะ สงเคราะห์์ใน สัมมากัมมันตะ
5. การไม่พูดร้าย และทำร้าย สงเคราะห์ใน สัมมากัมมันตะ และ สัมมาวาจา
6.การระวังในปาฏิโมกข์ สงเคราะห์ใน สัมมาสติ
7. การประมาณการกิน  สงเคราะห์ใน สัมมาสติ
8. การรู้จักเสนาสนะอันควรแก่การภาวนา สงเคราะห์ใน สัมมาสติ
9. การประกอบใน อธิจิต สงเคราะห์ใน สัมมาสมาธิ

ดังนั้น ถ้าพิจารณาให้ดี หลักการทั้ง 9 ก็คือ อริยะมรรคมี องค์ 8 นั่นเอง

เจริญธรรม / เจริญพร