แม่บทใหญ่ ทาง มัชฌิมา แบบลำดับ "มหาราหุโรวาทสูตร"

เริ่มโดย kai, ส.ค 20, 2024, 06:14 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

kai

แม่บทใหญ่ ทางมัชฌิมาแบบลำดับ
"มหาราหุโรวาทสูตร"


==============================
ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน
เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี
ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี
อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี
รูปทั้งปวงนี้ เธอพึงเห็นด้วยปัญญา
อันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้.


พระราหุลตรัสถามว่า
แค่ รูปขันธ์ เท่านั้นหรือที่ต้อง พิจารณาอย่างนี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์
วิญญาณขันธ์ ก็ต้องพิจารณาอย่างนั้นด้วย


รูปนั้นพิเศษเพราะว่า ประกอบด้วย ธาตุ 5
-----------------------------------------------
สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นธาตุ (มีลักษณะ)
อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ
อาการ ๓๒ นี่เรียกว่า ธาตุภายใน

ธาตุ เป็นภายนอกก็ดี
ธาตุ เป็นภายในก็ดี
เป็นธาตุเช่นเดียวกัน

ธาตุ อันเธอพึ่งเห็นชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้
เพราะบุคคลเห็น ธาตุ นั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายใน ธาตุ จิตย่อม คลายกำหนัดในธาตุ

คำว่า ธาตุ คือ
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ

การพิจารณา ท่านจัดว่าเป็นวิปัสสสนา
อันประกอบด้วยกายคตาสติอัน
มีวัตถุประสงค์ ให้มองเห็นตามความเป็นจริง


ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕


ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต)
เสมอด้วยแผ่นดินเถิด น้ำเถิด ไฟเถิด ลมเถิด
เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่
น้ำอยู่ ไฟอยู่ ลมอยู่ อากาศอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จัก
ไม่ครอบงำจิตได้.


ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้างมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน ลงในน้ำ แผ่นดิน และ น้ำ จะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ และน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

ดูกรราหุล เปรียบเหมือนไฟที่เผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้
ดูกรราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้น ก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
ดูกรราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง
ดูกรราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้
เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสา( การเบียดเบียน) ได้
เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติ ( ความไม่ยินดีชื่นชม) ได้.
เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะ(ความขัดเคือง)ได้
เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้.
เธอจงเจริญอนิจจสัญญา ภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้

อานาปานสติภาวนา
ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคล
เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่.
ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไรทำให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่? ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า.
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว.
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียก
ว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า.

ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียก
ว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า.
ดูกรราหุลอานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ครั้งสุดท้าย อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป หาเป็นอันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้.

9 กันยายน 2564