ถาม พอจ มีความเห็นอย่างไรกับ พอจ ติช นัท ฮัน ครับ
ตอบ ท่านติช นัท ฮันท์ เป็น ธรรมาจารย์ในสายเซ็น เวียตนาม เจ้าของหมู่บ้านพลัม นับว่ามีชื่อเสียง ทราบว่า มรณะภาพแล้วเมื่อวานนี้
ในสายกรรมฐาน ถือว่า ไม่เกี่ยวข้อง คนละนิกาย แนวคำสอนก็คนละแบบ ในทางกรรมฐาน แนวคำสอนของท่าน จัดเข้าไปในหมวดวิปัสสนาล้วน หรือ แนว มหาสติปัฏฐาน 4 คำสอนเน้นการใช้ชีวิตให้มีความสุข ส่วนการทำสมาธิก็ใช้อุปกรณ์หลายอย่าง การเข้าสมาธิเดี่ยว นั้นไม่ชัดเจน เน้นการใช้ชีวิตด้วยปัญญาความรู้ ที่มี ธรรมะ แบบมีสติ มากกว่า การใช้ อำนาจฉันทะสมาธิ แบบมูลกรรมฐาน
ในมูลกรรมฐาน เราไม่เน้นเรื่องการใช้ชีวิต คุณจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ ในมูลกรรมฐานไม่ได้กำหนด กำหนดแค่หัวข้อใหญ่ ว่าให้ประกอบด้วย มรรค มีองค์ 8 และการใช้อำนาจธรรมจะเน้นการใช้ สัมมาสมาธิ เป็นหลัก
คนเราจะต้องอยู่ในกฏของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนั้นชีวิตแต่ละคน ก็มีสูง มีต่ำไปตามกรรมที่ตนเองได้สร้าง อยากสบายก็ต้องสร้างกรรมดี อยากลำบากก็ทำกรรมชั่ว ซึ่งส่วนนี้ทางมูลกรรมฐาน ถือว่าเป็นภาวะขั้นต่ำ เพราะธรรมชาติของมนุษย์จะมีศาสนา หรือ ไม่มีศาสนา ก็ไม่มีใครอยากลำบากอยู่แล้ว ดังนั้นคนที่ไม่อยากลำบากก็รู้ตัวเองอยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร ที่เหลือจะเผื่อแผ่สังคมอย่างไร
แต่ในมูลกรรมฐานนั้น ผู้ที่จะเข้ามาสู่กระแส ย่อมผ่านร้อนหนาวมาก่อน จนเกิดปัญญาเบื่อหน่าย ( นิพพิทา ) มองเห็นทุกข์โทษของสังสารวัฏ ซึ่งส่วนนี้มูลกรรมฐาน ไม่ได้สอน แต่เกิดจากอุปนิสัยของผู้ที่เข้ามาได้เกิดปัญญาพิจารณาสรรพสิ่งตามความเป็นจริงด้วยตนเอง ที่เหลือก็แค่มาภาวนาตามขั้นตอนของกรรมฐานเท่านั้น
ดังนั้นกรรมฐาน ในแนวทาง ของติชท์ นัท ฮันท์ นั้น จึงไม่ค่อยสอดคล้องกับมูลกรรมฐาน เพราะเน้นไปในการใช้ชีวิต ตราบใดที่มนุษย์ยังพยายามใช้หลักธรรมเข้ากับชีวิตปัจจุบัน ตราบนั้นมนุษย์ไม่มีทางออกจากวัฏฏะสงสารได้ ในใจจะพบความสงบเป็นพัก ๆ อย่างมากก็แค่ ตทังคนิพพาน ( ชั่วคราว ) คนที่ใช้แต่อำนาจสติ ก็อาจจะหลงอยู่รูปแบบ แสง สี เสียง ซึ่งในทางมูลกรรมฐาน มันจำเป็นต้องละ สิ่งที่เรียกว่าสุข ทั้งหมด แสง สี เสียง รูปแบบ ปรมัตถ์ เป็นสิ่งที่ต้องละในขั้นสูงสุด
เจริญธรรม / เจริญพร
22 มกราคม 2565